Header Ads

ท่องเที่ยวคลองร้อยสาย


ที่คลองร้อยสายชุมชนยังคงวิถีชีวิตแบบเก่าๆ ชีวิตแบบเรียบง่ายที่พึ่งพาอาศัยลำน้ำแห่งชีวิตในการดำรงชีพ ทำให้นับได้ว่า “ที่นี่..ชุมชนคลองร้อยสาย”..เปรียบเสมือนกับหนังสือเล่มใหญ่ที่ได้รับการถ่ายทอดเรื่องราว ความเป็นมาของคนในอดีตมาถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ทรงคุณค่ายิ่งและควรค่าแก่การรักษาสืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง สนใจมาเที่ยวติดต่อพี่พาณุ ชำนาญเมือง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองร้อยสาย Tel. 077-205-323, 086-267-6695 


คลองร้อยสายกำเนิดขึ้นจากลำคลองเล็กๆ มากมายที่แยกย่อยลัดเลาะไปตามป่าโปร่ง ป่าจาก จนประสานกันเป็นร่างแห เลี้ยวลดคดเคี้ยวเหมือนงูขนาดใหญ่ที่เลื้อยหลบสิ่งกีดขวางจนในที่สุดมาบรรจบ กับสายน้ำตาปีอีกครั้งหนึ่ง ลำคลองเล็ก ๆ เลื้อยลดคดเคี้ยวนี้ไม่สามารถนับจำนวนได้หมด จึงเป็นที่มาของคลองร้อยสาย ซึ่งกินพื้นที่ถึงหกหมื่นกว่าไร่


ขณะเรือหางยาวแล่นผ่านป่าต้นจาก คุณพาณุเล่าให้ฟังว่า ต้นจากมีประโยชน์มหาศาล เป็นทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนคลองร้อยสายมานาน ยอดจากอ่อนๆ เมื่อนำไปคลี่ออกแล้วตากแดดให้แห้งก็จะกลายเป็นใบจากที่ใช้สูบกับยาเส้น ใบจากเอามาห่อทำขนมจาก หรือจะนำใบจากมาเย็บเป็นตับๆ ใช้มุงเป็นหลังคากันฟ้ากันฝน ก้านใบจากก็นำมาทำเป็นไม้กวาด แล้วใบที่นำก้านออกแล้วก็นำมาสานเป็นของเล่นเด็ก สมัยก่อนนำใบมาสานเป็นที่ตักน้ำไว้ใช้ที่เรียกว่า "หมาจาก" ส่วนลูกจากที่เราเห็นเป็นช่อสีน้ำตาลแดงสวยๆ โผล่ขึ้นมาจากน้ำ เนื้ออ่อนภายในสามารถนำมารับประทานได้ หากใครชอบกินลูกชิดหรือลูกตาล ก็ต้องลองทานลูกจากดู เพราะเมื่อนำมาเชื่อมแล้วก็อร่อยไม่แพ้ลูกชิด หรือลูกตาลเชื่อมกันเลยทีเดียว 



ขณะที่เรานั่งเรือหางยาวลัดเลาะไปตามบางน้อย บางใหญ่ในคลองร้อยสาย เราพบคุณยายพายเรือสวนมา คุณยายอายุราวๆ 70 ปี ยังคงแข็งแรงพายเรือมาตามลำน้ำ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายอย่างเป็นกันเอง ลมเย็นๆ ที่พัดมา ป่าจากและต้นมะพร้าวที่ขึ้นรอบๆ ตลิ่งให้ความร่มรื่นแก่ลำคลอง เสน่ห์ของผู้คนที่ยังคงใช้เรือพายผ่านไปมาดั่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ชีวิตที่ไม่รีบร้อนนี้แหละ เสน่ห์แห่งสายน้ำ คลองร้อยสาย ร้อยชีวีแห่งสายน้ำตาปี



ชุมชนที่อาศัยอยู่ในคลองร้อยสายแห่งนี้ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ วิถีไทยและความเป็นชนบทในตัวเมือง ชาวบ้านมีไมตรีจิต พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม  :  http://on.fb.me/necpmS

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.