Header Ads

นางกระดาน

ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่า เป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นเมืองเกษตรกรรม ย่อมต้องการให้พระองค์บันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร
    เทพที่อัญเชิญรับเสด็จประกอบด้วย พระอาทิตย์พระจันทร์/พระแม่คงคา/พระแม่ธรณีเทพดังกล่าวนี้จารึก หรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ชาวนครศรีธรรมราช เรียกไม้แกะสลักดังกล่าวนี้ว่า “นางกระดาน” หรือนางดาน เมื่อถึงวันพิธีก็อัญเชิญนางกระดานทั้ง 3 นี้มายังเสาชิงช้าในหออิศวร เพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลกมายังเสาชิงช้า เรียงตามลำดับ “นางกระดาน” ไปตามศักดิ์แล้ว
    นางกระดานแผ่นที่ 1 คือ พระอาทิตย์พระจันทร์ พระอาทิตย์ หรือ พระสุริยา เป็นผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อน แก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์อื่นๆ ด้วยการชักรถม้าเคลื่อนไปในจักรวาลไม่มีวันหยุด ให้พลังงานแก่สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ก่อให้เกิดวัฎจักรแห่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดูกาล ถือเป็นเทพที่มีคุณูปการต่อการอยู่รอดของสรรพสัตว์ พระจันทร์ หรือ “รัชนีกร” เป็นเทพผู้สร้างกลางคืน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และงดงามอ่อนละมุน ถือเป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อน และผสมพันธุ์สืบมาถึงปัจจุบัน
    นางกระดานแผ่นที่ 2 นามว่าพระธรณี เทพองค์นี้ มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่ง และพยุงสิ่งทั้งหลายสิ่งที่พระอิศวรสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย รองรับทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ เป็นเทพผู้สะสมคุณงามความดีทั้งปวง เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลก และขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรงจึงมีการทดสอบโดยหยั่งพระบาทลงมา ซึ่งหากหยั่งทั้งสองพระบาท เกรงว่าโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทมาเพียงข้างเดียว
    นางกระดานแผ่นที่ 3 นามว่าพระคงคา เทพองค์นี้เป็นธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร พระคงคาเป็นเทพผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำสมบูรณ์ให้แก่สรรพสิ่ง แต่เดิมอยู่บนสวรรค์ เพิ่งจะลงมาสู่โลกมนุษย์ในครั้งที่ท้าวภคีรถสำเร็จการพิธีอัญเชิญให้ลงมาชำระอัฐิโอรสท้าวสัคระที่ถูกท้าวกบิลบันดาลด้วยฤทธิ์เป็นเพลิงไหม้ตาย จึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากพระคงคาบนสวรรค์มาชำระอัฐิ จึงจะหมดบาปไปบังเกิดในสวรรค์ได้อีก
 
นางกระดานหรือนางดานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช พบที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นแผ่นไม้สลักรูปบุคคลในท่ายืน ทรงเครื่องคือสวมมงกุฎทรงเทริด มีกรองศอ สังวาลย์ ทับทรวง นุ่งผ้าชักชายยาวด้านหน้า ซึ่งเทียบได้กับเครื่องแต่งกายรูปบุคคลในศิลปะอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ด้านบนมีฉัตรซ้อนชั้นขึ้นไปสภาพชำรุดผุพังแล้วเป็นส่วนใหญ่จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นร่องรอยของอารยธรรมของพราหมณ์ นครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในหัวเมืองโบราณที่สำคัญทางประวัติศาสตร์


 เอกสารอ้างอิง
• Visitor guide to the Nakhon Si Thammarat National Museum. 2000.

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.